พ.ร.บ. พัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา
โดย Admin narong - Monday, 24 December 2007, 10:20PM
 

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน.( 2550) เร่งชงพ.ร.บ.พัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาเข้าสนช.

คมชัดลึก 17 ธันวาคม 2550 17:18 น.

“ วิจิตร ” เร่งดันร่างพ.ร.บ.เทคโนโลยีทางการศึกษาเข้าสนช.วาระที่ 2-3 ชี้ไม่มีร่างกฎหมายรองรับ ส่งผลตั้งกองทุนไม่ได้ทำให้สูญรายได้กว่า 700 ล้าน พร้อมเดินหน้าเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นองค์กรมหาชนรองรับ หวังใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาให้คุ้ม

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2550 ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างพ.ร.บ.เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว และคณะกมธ.ฯก็ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯเสร็จแล้ว จะเร่งผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สนช.ในวาระที่ 2 และ 3 มีผลบังคับใช้ในรัฐบาลชุดนี้ เพราะร่างพ.ร.บ.นี้ค้างมานานแล้ว ทำให้การศึกษาไม่ได้รับประโยชน์เพราะไม่ได้มีการตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษา

เนื่องจากไม่มีร่างกฎหมายรองรับทั้งที่พ.ร.บ.ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.)และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)กำหนดให้จัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งมาเข้าสู่กองพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษา เมื่อไม่ได้ตั้งกองทุนนี้จึงไม่ได้รับจัดสรรรายได้ ซึ่งควรได้รับจัดสรรรายได้นี้ตั้งแต่ปี 2548-2549 แล้ว ทำให้สูญเสียเงินไปกว่า 700 ล้านบาทเพราะขอจัดสรรรายได้ย้อนหลังไม่ได้ เนื่องเงินคืนคลังไปหมดแล้ว

” ร่างพ.ร.บ.ฯจะมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลนโยบาย และมีกองทุนพัฒนาเทคโลยีทางการศึกษา จึงจะต้องเร่งรัดจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฯกำหนดให้มีกองทุนรองรับและมีหน่วยงานจัดสรรโดยนำรายได้ของกสช.และกทช.มาใช้ดำเนินงานเป็นหลัก จึงไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ” รมว.ศธ. กล่าว

ศ.ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันปัจจุบันเทคโนโลยีทางการศึกษาของศธ.กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆในสังกัด เมื่อลงทุนแล้วอาจจะไม่คุ้ม จึงจะมีหน่วยงานกลางซึ่งเป็นองค์กรมหาชนขึ้นมาทำหน้าที่ประสาน ส่งเสริม วิจัยและพัฒนาทั้งคน เครื่องมือจะคุ้มค่ากว่า จะรวบรวมหน่วยงานต่างๆที่ดูแลด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาของศธ.ทั้งหมดแล้วจัดระบบใหม่สถาบันกลางที่เป็นองค์กรมหาชนนี้ เพื่อจัดและพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาและบุคลากรให้เกิดการใช้งานที่คุ้มค่า

รวมถึงเชื่อมโยงเทคโนโลยีการศึกษาของโรงเรียนทั่วประเทศเข้ามาไว้ด้วยกันเพราะเทคโนโลยีสมัยนี้ต่างคนต่างทำไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนไม่สมบูรณ์เช่น การวางระบบโครงข่ายเชื่อมโยงโรงเรียน 4 หมื่นแห่ง ต่างคนต่างวางระบบก็ไม่จบ หรือโทรทัศน์เพื่อการศึกษาต่างคนต่างมีก็ไม่คุ้มและคลื่นก็ไม่พอ ส่วนเรื่องไหนที่แต่ละหน่วยงานทำได้ก็กระจายออกไป

“ การจัดตั้งสถาบันนี้ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนต้องมีพระราชกฤษฎีการองรับขณะนี้ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันนี้นั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้ว จะเสนอต่อรัฐบาลให้ออกพระราชกฤษฎีกานี้ต่อไป ” รมว.ศธ. กล่าว

---------------------------------

ขอบคุณความเอาใจใส่ของ พณฯ รมว.ศธ. ที่พยายามอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันกฏหมายฉบับนี้ ผ่าน สนช. แม้ว่าจะพิจารณาไม่ทันวาระ 2 และ 3 ทำให้กฏหมายนี้ตกไป ก็เริ่มใหม่ได้ ถ้า รมว.ศธ. ของรัฐบาลใหม่เอาใจใส่และมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาไทย  ที่จะทำให้การสื่อความรู้สู่เยาวชนเป็นไปได้โดยง่ายอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ....